การถ่ายรูปในวัด

ประเทศไทยมีวัดเป็นจำนวนมาก และช่างภาพทุกคนในเมืองไทย ก็ชอบที่จะไปวัดเพื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมสวย ๆ มาฝากเพื่อน ๆ

จากที่ได้ไปถ่ายภาพที่วัดในหลาย ๆ จังหวัด วันนี้ผมจึงอยากมาเขียนบทความเล่าประสบการณ์ และแนวคิดต่าง ๆ ในการถ่ายภาพที่วัดนะครับ ว่ามีแนวคิดอะไรบ้าง โดยในบทความนี้ ผมจะรวบรวมเทคนิคหลาย ๆ อย่าง ทั้งการถ่ายภาพวัดเวลากลางวัน การถ่ายมุมมหาชน การถ่ายวัดตอนกลางคืน หรือเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เพื่อเป็นไอเดียในการถ่ายรูป เวลาเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ไปเที่ยวที่วัดกันนะครับ . . . #การถ่ายภาพวัด

วัดโพธิ์ (The Reclining Buddha) ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของชาวโลก เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยวที่ไทย ก็ต้องแวะมาถ่ายรูปกันที่วัดนี้เกือบทุกคน

อีกแห่งคือที่เมืองโบราณ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ณ มหาวิหารวชิรธรรม พุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาล

พุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาลแห่งนี้เป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายของเมืองโบราณ สมุทรปราการ และเป็นพื้นที่ Free Zone (ไม่เสียค่าบัตรเข้าชม) มีสถานที่สวย ๆ ในการถ่ายภาพ และฟื้นฟูจิตใจเยอะมากครับ

ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงวัดในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง วัดราษฎร์ และวัดร้าง

พระอารามหลวงหรือวัดหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นมา หรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ จากนั้นขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นวัดหลวง

วัดราษฎร์ คือวัดที่ประชาชนทั่วไปสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น วัดประสาทบุญญาวาส

วัดร้าง คือวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัย หรือจำพรรษา ทางราชการจะขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งหากบูรณะได้อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป ตัวอย่างเช่น วัดไชยวัฒนาราม (พระนครศรีอยุธยา)

อย่างไรก็ตาม พระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "วัดหลวง" ว่าคือ วัดในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับยกย่องสถาปนาให้เป็นวัดพิเศษจากวัดราษฎร์ทั่วไป เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า "พระอารามหลวง"

เนื้อหาต่อมา ผมจะพูดถึงเวลาไปถ่ายภาพที่วัด ซึ่งหลายคนเวลาไปวัด ก็จะพกเลนส์ไวด์ไป และเน้นถ่ายแต่โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ประตู พระ แบบตรง ๆ เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้ว ภายในวัดมีอะไรอีกมากมาย ซึ่งสามารถใช้ภาพเป็นตัวถ่ายทอดได้อีกมาก ซึ่งนอกจากจะใช้เลนส์ไวด์ (มุมกว้าง) แล้ว บางครั้งผมยังพกเลนส์เทเลโฟโต้ บางครั้งพกเลนส์ 85 มม. ไป (ถ่ายมุมกว้างไม่ค่อยได้ แต่บางทีอาจได้ภาพที่ไม่เหมือนคนอื่น ที่มีความสวยงามและโดดเด่นมาก) อย่างเช่น เลนส์ Canon EF 85mm F/1.2L II Usm ดังจะกล่าวต่อไปในบทความนี้

เน้นสถาปัตยกรรม

การถ่ายโดยเน้นสถาปัตยกรรมที่สวยงามอยู่แล้วของวัด ทำได้หลายรูปแบบดังนี้

ถ่ายตรง ๆ ตามแสงเลย เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสวยงาม มุมนี้อาจเรียกว่ามุมมหาชน หรือมุมบังคับก็ได้ เพราะทุกคนที่มาถึงวัด ก็จะถ่ายแบบนี้เกือบทุกคน

ภาพแนวนี้ ใช้เลนส์ระยะนอร์มัลถ่าย ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ความสวยงามจะมาจากตัววัดเองครับ

วัดเบญจมบพิตร (Marble Temple)

การถ่ายจากด้านข้าง เพื่อสร้างมุมมองแบบ Perspective ก็เป็นไอเดียที่น่าลองดูเหมือนกัน

การหากรอบให้กับภาพ เพื่อเน้นให้วัดโดดเด่นขึ้นจากฉากหน้าที่เป็นกรอบ อีกเทคนิคหนึ่ง คือการเลือกดูดสีออกบางจุด จะทำให้ภาพของเราดูแปลก และหยุดสายตาผู้ชมได้บางส่วน

เน้นสีสัน

วัดไทยส่วนมาก จะมีสีส้ม ๆ แดง ๆ ของหลังคา แล้วยิ่งถ้าเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ หรือสัตว์ในตำนานต่าง ๆ ก็จะมีการตกแต่ง ประดับประดา ด้วยสีสันสีฉูดฉาด สดใส . . .

ยิ่งถ้าเราเล่นมุมกับทิศทางแสงให้เหมาะสม จะทำให้ท้องฟ้าของเราออกมาเป็นสีน้ำเงินเข้ม หรือฟ้าเข้ม จะช่วยขับให้ภาพของเรามีสีที่โดดเด่น สวยงามเพิ่มขึ้นครับ

อย่างภาพนี้ ผมถ่ายที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ๆ ชาวโลกจากประเทศต่าง ๆ เวลามาเที่ยวเมืองไทย ก็มักที่จะแวะสักการะ และชมความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยกันที่วัดนี้ . . . สมัยก่อนตอนที่เริ่มถ่ายภาพใหม่ ๆ ผมไปถ่ายที่นี่ประจำครับ ได้ภาพสวย ๆ กลับมาทุกครั้งครับ

เน้นแสงเงา

บางครั้ง มีจังหวะที่แสงสวยพอดี เราก็ควรจับจังหวะที่แสงสวยนั้นมาฝากเพื่อน ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะเดินชมวัดพระแก้ว เห็นแสงอาทิตย์สะท้อนกระเบื้องที่เป็นกระจกเข้าตาเราพอดี เราก็อาจปรับรูรับแสงให้แคบ แล้วถ่ายให้ได้แสงสะท้อนนั้นให้ถูกมุม เป็นให้ได้แสงแฉก เป็นต้น


หรือบางจังหวะ แสงอาทิตย์อาจทำมุมที่สวยงาม เราก็สามารถใช้สถาปัตยกรรมที่สวยงาม เล่นทิศทางแสง แสงสะท้อนในน้ำ วางองค์ประกอบภาพของเราให้น่าสนใจจากการใช้แสงและเงาสะท้อน ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ . . . .ซึ่งโดยปกติแล้ว เวลาผมเห็นฉากหน้าที่เป็นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ แม่น้ำ บึง หรืออ่างเก็บน้ำ . . . ผมมักจะยกกล้องขึ้นเล็งเสมอ ก็มักจะได้ภาพที่สวยงามกว่าพื้นที่เป็นปูนซีเมนต์ปกติครับ

เน้นผู้คน

- อิริยาบถในการชมวัดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่กำลังชมวัดพระแก้ว

- กิจกรรมขณะอยู่ในวัด เช่น กำลังมีการสวด หรือขณะอยู่ในงานบวช กำลังโกนศีรษะ เป็นต้น

บางครั้งในวัดมีงาน เช่น งานวันสงกรานต์ งานปีใหม่ หรืองานอื่น ๆ ก็จะมีการตกแต่ง ประดับประดา ให้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากวัดปกติ . . .

ปกติแล้ว เราจะไปที่วัดในเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ เพราะวัดส่วนมากในประเทศไทย ก็จะปิดเวลากลางคืน แต่ในบางครั้ง มีสถานที่บางแห่ง ซึ่งในเวลากลางคืน จะมีการเปิดไฟส่องที่วัด อย่างเช่นวัดอรุณ (วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา) เวลาฝรั่งค้นหาในกูเกิล จะค้นหาคำว่า "Temple of Dawn" ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ไปทั่วโลก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ช่วงเวลากลางคืน วัดจะเปิดไฟ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือ และเดินเล่นอยู่อีกฝั่งหนึ่ง รวมทั้งคนที่เดินอยู่บนสะพานต่าง ๆ มองเห็นได้ชัดเจน ชมความงดงามยามค่ำคืน . . . ถ้าหากเราอยากที่จะถ่ายรูปที่วัดนี้ ลองหาขาตั้งซักตัว แล้วเอากล้องวางบนขาตั้ง แล้วตั้งเวลาถ่าย เปิดสปีดชัตเตอร์ให้ยาว ๆ หน่อย ซัก 20-30 วินาที ก็จะได้ภาพที่งดงาม เอาไปโชว์เพื่อน ๆ ได้ครับ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ Temple of Dawn ยามค่ำคืน ที่มีความงดงาม