หยุดความเคลื่อนไหว

การถ่ายภาพหยุดความเคลื่อนไหว . . . S T O P A C T I O N

ภาพหยุดความเคลื่อนไหว มีหลากหลายประเภทมาก ส่วนมากมักจะหมายถึง ภาพที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ (จนมองไม่ทันด้วยตาเปล่า) แล้วเราจับภาพนิ่งได้อย่างชัดเจน สามารถนำมาดู และพิจารณาถึงส่วนต่าง ๆ ในภาพได้อย่างละเอียด ตัวอย่างของภาพแนว Stop Action หรือภาพหยุดความเคลื่อนไหว มีดังนี้

  • ภาพคน ปลา วาฬ โลมา สิงโตทะเล แมวน้ำ หรือตัวอะไรที่กำลังกระโดด แนวนี้ฮิตที่สุดครับ ไปเที่ยวที่ไหน ต้องโดดกันตลอด

  • ภาพคนกำลังเล่นกีฬา เช่น คนกำลังตีเทนนิส ขณะลูกเทนนิสลอยกลางอากาศ คนตีลังกา เล่นยิมนาสติก

  • ภาพนกกำลังบินกลางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นนกอินทรี เหยี่ยว หรือนกนางนวล

  • ภาพสัตว์กำลังตะครุบเหยื่อ เช่น จิ้งเหลนกำลังแลบลิ้นจับแมลง เป็นต้น

  • ภาพหยดน้ำ ที่หยดลงมากระทบผิวน้ำ และแตกออกอย่างสวยงาม

  • ภาพกระสุนปืนที่กระทบผลแตงโม และระเบิดออก (อันนี้อาจเกินความสามารถกล้อง DLSR ต้องใช้กล้องความเร็วสูงพิเศษ)

หลายคน เวลาดูภาพเพื่อน ๆ ไปเที่ยวสถานที่สวย ๆ ต่าง ๆ มักจะเห็นภาพเพื่อน ๆ กระโดดค้างอยู่ในอากาศ ทำท่าทางต่าง ๆ ที่ดูสนุกสนาน ดังนั้น ถึงคราวที่เราไปเที่ยว เราก็จะกระโดดมาโชว์เพื่อน ๆ บ้าง

เนื้อหาที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ผมจะมาอธิบายวิธีการถ่ายภาพ Stop Action เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ให้เพื่อน ๆ ถ่ายภาพวันหยุดพักผ่อน หรือสถานที่ท่องเที่ยวมาแชร์กัน เพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้นครับ หลักการง่ายมากเลยครับ คร่าว ๆ มีดังนี้

** ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ (เร็ว ๆ) ถ่ายภาพ **

จบแล้ว!!!! จริง ๆ ครับ หลักการมีอยู่เท่านี้จริง ๆ ส่วนจะต้องใช้ความเร็วสูงมาก สูงปานกลาง สูงนิดหน่อย เดี๋ยวผมจะแจกแจงด้านล่างนะครับ

ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

  1. วัตถุยิ่งเคลื่อนไหวเร็ว Shutter Speed ยิ่งต้องเร็ว เช่น นกบิน ฮัมมิ่งเบิร์นกำลังลอยตัว หรือผีเสื้อกระพือปีก (ซึ่งเป็นอะไรที่ถ่ายยากมาก) อันนี้ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมาก อาจจะ 1/1000

  2. แสงต้องมาก (แสงน้อยถ่ายยากครับ ถ้าต้องถ่ายจริง ต้องใช้แฟลชช่วย) เพราะหากแสงน้อย ถ้าเร่งความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ แล้ว แสงจะเข้าเซนเซอร์ได้น้อย ทำให้ไม่สามารถถ่ายได้ (ถ่ายออกมาภาพมืดหมด) จริงอยู่ เราสามารถเร่ง ISO มาก ๆ ทำให้เซนเซอร์ไวแสงได้ แต่ภาพที่ได้นั้น จะมีคุณภาพไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าใดนัก . . . สำหรับการใช้แฟลช กับการถ่ายภาพที่ต้องการความเร็วชัตเตอร์สูงๆ นั้น จะต้องเป็นแฟลชดี ๆ หน่อย หรือรุ่นดี ๆ รุ่นท็อป ๆ ที่มีฟังก์ชั่น HSS หรือว่าไฮสปีดซิงค์ ด้วยนะครับ เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ของกล้องได้เร็วกว่า 1/200 (บางยี่ห้อ 1/250) ครับ

  3. ควรถ่ายตามแสง (ย้อนแสงก็ได้ เดี๋ยวค่อยอธิบายเพิ่ม แต่ต้องใช้แสงอื่นช่วย) เพื่อให้สีสันฉากหลังสดใส และตัวแบบหน้าไม่ดำ

หลักการพื้นฐาน

ตัวแบบยิ่งเคลื่อนไหวเร็ว ยิ่งต้องใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมากขึ้น ไม่เช่นนั้น ภาพที่ได้จะไม่นิ่งสนิท และไม่คมชัด เช่น

- ภาพนกนางนวลบิน ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/1000, 1/2000 วินาที หรือเร็วกว่านั้น

- ภาพคนกำลังวิ่งลอยกลางอากาศ อาจใช้ความเร็ว 1/2000 วินาที

- ภาพคนกระโดด บางครั้ง ความเร็วแค่ 1/400 หรือ 1/800 วินาที ก็ได้ภาพนิ่งสุด ๆ แล้ว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ผมเคยใช้ความเร็วแค่ 1/250 ภาพก็ได้ผสมกัน นิ่งบ้าง ไม่นิ่งบ้าง แต่บางครั้ง แสงไม่อำนวย ก็ต้องอาศัยโชคช่วยบ้าง แต่ถ้าแสงมาก ๆ อัดเข้าไปเลยครับ 1/4000 หรือ 1/8000 เลย

- ภาพปลากำลังว่ายน้ำช้า ๆ ความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาทีก็เพียงพอแล้ว

วิธีการตั้งค่ากล้อง

สำหรับมือใหม่นะครับ เอาแบบง่ายที่สุดเลย ให้ปรับกล้องเป็นโหมด TV สำหรับ Canon (โหมด S สำหรับ Nikon) และใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ ตามลักษณะที่ผมอธิบายข้างบน เช่น 1/2000, 1/1000, 1/500 เป็นต้น ถ้าแสงมาก ๆ ก็ใช้สูง ๆ ไปเลย ภาพนิ่งแน่นอน

โหมดการวัดแสง ตั้งเป็นเฉลี่ยทั้งภาพเลย (เราก็ไม่ค่อยใช้อย่างอื่นอยู่แล้ว), ISO ปล่อยไหล, Aperture (รูรับแสง) ปล่อยไหล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า เราถ่ายในที่ซึ่งมีแสงสว่างมากเหลือเฟือนะครับ อย่างที่อธิบายไปตอนต้น

สำหรับช่างภาพระดับมืออาชีพ หรือคนที่ถ่ายเก่งแล้ว เขามีวิธีเฉพาะของเขาเองครับ แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อน ๆ ผมในก๊วนถ่ายภาพ ปรับไม่เหมือนกันซักคน คนละสูตร แล้วแต่ภาพปลายทางว่า เค้าต้องการออกแบบมาให้เห็นอย่างไร

เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการถ่ายภาพกระโดด (ที่กำลังนิยมกัน) :

- การจัดองค์ประกอบ ให้เว้นที่เผื่อกระโดดข้างบนไว้ด้วย

- ให้ตัวแบบไปยืนที่จะกระโดด แล้วเราโฟกัสที่แบบ พอได้โฟกัสแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นแมนนวลโฟกัสครับ เพื่อล็อคโฟกัสไว้เลย ไม่ต้องโฟกัสแล้ว จากนี้ไปตรงนี้จะชัดทุกภาพ แต่ถ้าเปลี่ยนตำแหน่ง ต้องโฟกัสใหม่นะครับ

เพียงเท่านี้เองครับ เสร็จแล้วสำหรับการตั้งค่ากล้อง คราวนี้มาพูดถึงการกดชัตเตอร์บ้าง ซึ่งโดยทั่วไปมี 2 แบบนะครับ แล้วแต่ใครจะถนัดแบบไหน เพื่อนผมในกลุ่ม มีทั้ง 2 แบบเลยครับ

- ถ่ายภาพเดียวเด็ด ๆ ไปเลย จับจังหวะ

- ถ่ายต่อเนื่องเป็นชุด โดยการปรับกล้องเป็นโหมดถ่ายต่อเนื่อง (high speed ไปเลย) แล้วกดชัตเตอร์ค้างไว้ เพื่อถ่ายเป็นชุดหลาย ๆ ภาพต่อเนื่องไปเลย

สำหรับตัวผม ชอบจับจังหวะสวย ๆ ทีเดียวหรือ 2 ทีมากกว่า . . . อันนี้แล้วแต่ชอบนะครับ


ข้อควรระวังของการกระโดดให้สูง ๆ

อันนี้เล่าให้ฟังจากประสบการณ์ตรง ที่เกิดกับตัวเองจริง ๆ เลยนะครับ

หัวเข่าและข้อเท้า ถ้าไม่ฟิตจริง โดดแค่ 2-3 ทีก็พอครับ อย่าโดดมาก เข่าจะกระแทก ทำให้บาดเจ็บได้ เอาแบบทำท่าสวย ๆ เน้น ๆ แค่ไม่กี่ทีเลิกเลยครับ

ต้องเซฟหลังด้วย ต้องรู้จักท่ากระโดดด้วย แรก ๆ อาจโดดเบา ๆ ก่อน เพื่อฝึกฝนก่อน ถ้าทำท่าผิด อาจปวดหลังไปเป็นอาทิตย์เลย

ระวังกางเกง ตอนผมโดดแบบแอกชั่นเต็มที่ที่เกาหลีใต้ โดดไปปั๊ป . . เสียงดัง "แคว่ก" ตามมาทันที ปรากฎว่ากางเกงขาดตรงเป้าพอดี . . . โชคดี วันนั้นเดินทางกลับเมืองไทยพอดี กระเป๋าเดินทางอยู่ใต้รถทัวร์ เลยไปเอากางเกงใหม่มาเปลี่ยนได้ ไม่ต้องใส่กางเกงขาด ๆ ไปทั้งวัน

ผมเคยอธิบายการปรับค่ากล้องต่าง ๆ ไปมากแล้ว ทั้งการถ่ายภาพบุคคล การทำโบเก้ การถ่ายชัดตื้นชัดลึก การใช้แฟลชแยก การใช้รีเฟล็กซ์ การใช้เจลสี การถ่ายในสตูดิโอ การย้อนแสง . . . และเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าใครติดตามอ่านมาเรื่อย ๆ ป่านนี้นะจะปรับกล้องเก่งกันทุกคนแล้วนะครับ ส่วนใครยังปรับกล้องไม่เก่ง หรือคุมกล้องยังไม่อยู่ ให้ลองอ่านทบทวนในบล็อกเก่า ๆ ของผมนะครับ มีเขียนไว้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ การปรับค่ากล้อง โดยดูได้ที่ www.suaythep.com (บล็อก) หรือ web.suaythep.com (เว็บ) หรือ vdo.suaythep.com