การถ่ายภาพหิมะให้เห็นเป็นดวง ๆ

บางครั้งขณะที่หิมะกำลังตก เวลาเรานำกล้องออกไปถ่ายเฉย ๆ บางครั้งอาจถ่ายไม่เห็นหิมะที่ลอยอยู่กลางอากาศ เพราะเกล็ดหรือผลึกหิมะนั้นมีขนาดเล็กมาก ในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำวิธีการถ่ายหิมะให้เห็นว่ากำลังตกอยู่ชัด ๆ โดยการถ่ายให้หิมะกลายเป็นดวง ๆ แบบที่แสดงให้ดูในภาพด้านบนครับ . . .

ปัจจัยที่ทำให้เกล็ดหิมะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก . . . เมื่ออุณหภูมิติดลบต่ำกว่าจุดเยือกแข็งไปมาก ๆ เช่น -25 องศาเซลเซียส หากมีหิมะตกลงมา ส่วนใหญ่เกล็ดหิมะจะเล็กมาก จนมองแทบไม่เห็น แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ใกล้ ๆ 0 องศา เช่น -3 องศาเซลเซียส เกล็ดหิมะจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความชื้นมากขึ้น แบบมาตกลงมาถึงพื้นปั๊ป บางทีละลายกลายเป็นน้ำปุ๊ปเลย

หิมะเกล็ดเล็ก ๆ ที่ตกเมื่ออุณหภูมิหนาวมาก ๆ หรือเย็นมาก ๆ จะมีความแห้งมากด้วย ไม่ค่อยจับกันเป็นก้อน เอามาปั้นเป็น Snowman ก็ไม่ค่อยได้ เพราะมันไม่ติดกัน . . . ถ่ายรูปก็ถ่ายไม่ค่อยติด เพราะมันตกลงมาเร็วมาก และมีขนาดเล็กมาก มองไม่ค่อยเห็น ส่วนหิมะที่เป็นปุย ๆ ที่ตกเมื่ออากาศอุ่นขึ้นนั้น ผลึกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ถ่ายรูปติดได้ง่าย เพราะบางครั้งมันจะค่อย ๆ ลอยลงมาช้า ๆ (คล้าย ๆ ในหนังเกาหลี) ถ่ายภาพติดได้ง่าย

ดังนั้นเวลาเราถ่าย อุณหภูมิของอากาศก็มีผลกับการถ่ายให้ติดเป็นดวง หรือถ่ายออกมาแล้ว มองไม่เห็นอะไรเลยด้วยนะครับ . . . (บางครั้ง ถ่ายไป ก็เห็นแต่วิว ไม่เห็นเกล็ดหิมะ ถ้าเราไม่รู้เทคนิค)

อุปกรณ์การถ่ายภาพหิมะ

ส่วนนี้จะอธิบายวิธีการถ่ายภาพหิมะให้เห็นเด่นชัดกว่าปกติ คือทำให้หิมะกลายเป็นดวงสีขาว ๆ ใหญ่ ๆ ซึ่งหลักการก็ง่าย ๆ ก็คือให้เตรียมอุปกรณ์ดังนี้

1. เลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้กว้าง ๆ เช่น f/2, f/1.4 เป็นต้น

2. แฟลช ซึ่งในบล็อกที่ถ่ายมาให้ดูนี้ ผมใช้ Canon Speedlite 580 EX II ซึ่งจริง ๆ จะใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ ขอให้มีความเข้าใจเรื่องการใช้แฟลชภายนอก นะครับ

3. เลนส์ไวด์มาก ๆ จะทำให้ถ่ายหิมะเป็นดวงได้ยาก ดังนั้น ภาพทั้งหมดในเซ็ตนี้ ผมใช้เลนส์นอร์มัล EF 35 f/1.4L ครับ ถ้าใช้เลนส์เทเลโฟโต้ จะทำให้ยิ่งได้ดวงใหญ่มากขึ้นไปอีก

ช่วงเวลาถ่ายภาพ ก็มีความสำคัญมาก ๆ

ช่วงเวลาที่ทำให้ถ่ายภาพหิมะออกมาเป็นดวง ๆ สีขาว ๆ

เวลาที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ ช่วงที่ยังมืดอยู่ หากฟ้าสว่างขึ้น ก็ทำได้ยากขึ้น . . . วิธีการก็คือ ตั้งกล้องโหมด A ไปเลยครับ เปิดรูรับแสงให้กว้าง ๆ ไปเลยครับ ถ้าได้ความเร็วชัตเตอร์ ซัก 1-2 วินาที ไม่เป็นไรครับ เพราะสภาพแสงมืดมาก ยังไงก็ไม่ค่อยมีผลอยู่แล้ว เวลาชดเชยแสง ถ้าสภาพแวดล้อมมืดมาก ก็ชดเชยไปทางลบซัก 2 สต็อปก็ได้นะครับ แล้วแต่สถานการณ์แสงในขณะนั้น

จากนั้นก็พยายามหาจุดโฟกัส ซึ่งจะโฟกัสได้ยากนิดหน่อย เพราะบรรยากาศค่อนข้างมืด ท้ายที่สุดก็ถ่ายโดยพยายามถือกล้องนิ่ง ๆ ภาพทั้งหมดนี้ผมใช้มือเปล่าถือกล้องครับ ไม่ได้ใช้ขาตั้งแต่อย่างใด ถ้ากล้องไม่สามารถหาจุดโฟกัสได้ ให้ใช้ไฟฉายส่องไปยังจุดที่จะให้กล้องโฟกัส จากนั้นโฟกัสจุดนั้น แล้วก็ปรับโหมดโฟกัสให้เป็น "แมนนวลโฟกัส" ไปเลยครับ แล้วภาพต่อ ๆ ไป ก็กดชัตเตอร์อย่างเดียว ไม่ต้องไปยุ่งกับการโฟกัสอีก . . .

เมื่อเราเวลายิงแฟลช จะทำให้แฟลชที่ยิงออกมา กระทบเกล็ดหิมะที่ลอยอยู่กลางอากาศ กลายเป็นดวง ๆ สีขาว ๆ ใหญ่ ๆ โดยอัตโนมัติ ทำให้ภาพของเราดูเสมือนว่ามีหิมะลูกใหญ่ ๆ กำลังตกลงมา ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของภาพได้เป็นอย่างมากเลย

เวลาเรานำภาพไปให้คนอื่นดู หรือแชร์ในเฟซบุ๊ค หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อน ๆ ญาติ ของเราก็จะเห็นดวงหิมะ (สีขาว ๆ) ซึ่งเค้าก็จะประหลาดใจว่า เอ๊ะ ถ่ายออกมาได้ยังไง เราก็สามารถอธิบายให้เค้าทำตามได้นะครับ . . ถ้ายังไม่เข้าใจ แนะนำให้กรอกลับขึ้นไปอ่านตั้งแต่ด้านบนลงมาอีกรอบนะครับ


สรุปหลักสำคัญใน "การถ่ายภาพหิมะ" ให้เห็นเป็นดวง ๆ

- ใช้เลนส์รูรับแสงกว้าง

- ถ่ายตอนมืด (มืดพอเหมาะ) และมีอุณหภูมิพอเหมาะ

- เปิดแฟลช เพื่อยิงใส่เกล็ดหิมะ จะปรากฎออกมาเป็นดวง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้


ยังไงเพื่อน ๆ ลองทำกันดูนะครับ . . . . สวัสดีครับ