การละลายฉากหลัง

การละลายฉากหลัง การเบลอฉากหลัง หน้าชัดหลังเบลอ การทำหลังเบลอ การโชว์เดป การทำภาพชัดตื้น ชัดตื้นชัดลึก หรือบางคนจะเรียกภาษาอังกฤษว่า #Shallow Depth of Field หรือ #Blurred Background ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ก็เป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้นครับ

ยกตัวอย่างเช่น ภาพนกแก้วที่ซาฟารีเวิลด์ การละลายฉากหลัง หรือการโฟกัสให้ภาพคมสุด ๆ ที่ฉากหน้า ช่วยทำให้คนมองภาพสนใจที่ตัวนก ไม่สนใจฉากหลังที่ถูกทำให้เบลอ หรือหลุดโฟกัส

ภาพกิ้งก่าที่นำมาโชว์ในห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า รัชดา พระราม 3 ซึ่งมีการหามุมที่จะละลายฉากหลังให้ออกมามีสีสวย และช่วยขับให้ตัวกิ้งก่าโดดเด่นขึ้นมา

นกเค้าแคระที่หน้าตาน่ารักตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้ถ่ายพยายามละลายฉากหลังให้เบลอ หลุดโฟกัสออกไป เพื่อขับให้นกเค้าดูโดดเด่นสวยงามขึ้นมา

ที่มาของการละลายฉากหลัง

เนื่องจากการที่คนชมภาพต้องมองทั้งภาพ ทำให้เสียเวลา ดังนั้น เทคนิคการละลายฉากหลัง มีไว้เพื่อทำให้ส่วนที่รก หรือน่ารำคาญถูกทำให้เบลอ เพื่อที่ผู้ชมภาพ จะได้รู้ว่าเรากำลังเน้นอะไร เช่น การถ่ายพริตตี้ หรือนางแบบ แล้วเราเบลอฉากหลังทิ้งไปทั้งหมด เหลือไว้เพียงนางแบบอย่างเดียว ก็จะช่วยขับให้ตัวนางแบบมีความโดดเด่นมากขึ้นมาได้

ในบางสถานการณ์ ฉากหลังไม่มีความสวยงาม หรือไม่มีอะไรโดดเด่น วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราจะใช้ก็คือ ไม่ต้องถ่ายมันซะ นั่นคือ ทำให้ฉากหลังทั้งหมดไม่ได้โฟกัส หรือเบลอ หรือที่ในวงการถ่ายภาพนิยมเรียกว่า การละลายฉากหลังนั่นเอง สำหรับผู้ที่จะค้นข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ ให้ค้นคำว่า Shallow Depth of Field, Blurred Background นะครับ

วิธีละลายฉากหลัง

อนึ่ง ในที่นี้ผมจะอธิบายการละลายฉากหลังด้วยกล้อง DSLR นะครับ เช่น กล้อง Canon EOS 70D, EOS 100D, EOS 5D Mark II หรือ Nikon D90, D300, D800 เป็นต้นครับ เนื่องจากคุณสมบัติของกล้องที่สามารถทำได้ง่าย หากใช้กล้องคอมแพค หรือกล้องขนาดเล็ก จะละลายฉากหลังได้ยากครับ (ทำได้เหมือนกัน แต่ยาก และไม่สวย) สมัยนี้ โทรศัพท์มือถือดี ๆ อย่างเช่น Huawei P30 Pro ก็สามารถละลายฉากหลัง ด้วยการใช้กล้องหลาย ๆ ตัวบนมือถือทำได้แล้ว แต่ก็ไม่เหมือนกับการใช้กล้อง DSLR อยู่ดี แต่ถ้าไม่ได้เน้นอะไรมาก ก็สามารถทำได้สะดวกมาก ๆ เลยครับ

สอนวิธี ละลายฉากหลัง (#หน้าชัด หลังเบลอ)

การถ่ายภาพให้ฉากหลังหลุดโฟกัส (เบลอ) หรือที่เรียกว่าการละลายฉากหลัง หรือบางคนเรียก หน้าชัด-หลังเบลอ นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 อย่างคือ

1. ขนาดเซนเซอร์ ของกล้อง ยิ่งเซนเซอร์กล้องมีขนาดใหญ่ จะยิ่งละลายได้มาก เช่น กล้องฟุลเฟรมของ Canon EOS 5D Mark III หรือ D800 ของ Nikon จะละลายได้ง่ายและมากกว่ากล้องที่มีเซนเซอร์ขนาด APS-C เช่น Nikon D90, D300 หรือ Canon 500D, 100D เป็นต้น

2. ระยะโฟกัส ของเลนส์ ยิ่งมีระยะโฟกัสมาก เช่น เลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. จะละลายได้ง่ายกว่าเลนส์ไวด์ระยะ 14 มม. เป็นต้น สำหรับเลนส์ที่เหมาะกับการละลายฉากหลัง มีดังนี้ EF 70-200 ทั้งตัว f/2.8 หรือ f/4 ก็ได้, เลนส์ EF 135 f/2L, เลนส์ EF 85 ไม่ว่าจะเป็น f/1.2 หรือ f/1.8 ละลายได้ดีทั้งนั้น สำหรับค่าย Nikon ก็เช่นเดียวกัน ใช้เลนส์ระยะ 85, 135 หรือ 70-200 นะครับ

3. ค่ารูรับแสง ของเลนส์ ยิ่งค่า f น้อย (กว้าง) จะยิ่งละลายได้มาก จากข้อนี้ อธิบายได้ว่าเลนส์ฟิกซ์ หรือเลนส์ไพรม์ (ระยะโฟกัสคงที่) จะมีระนาบความชัด (Depth of Field) ที่ตื้นกว่ามาก จากคุณสมบัติพื้นฐานของตัวเลนส์เอง ดังนั้น การใช้เลนส์ Canon EF 85 f/1.2L หรือ Nikon AF-S 85 f/1.4G จะละลายฉากหลังได้ง่ายกว่าเลนส์ซูมระยะ 70-200 โดยเปิดที่ระยะ 85 มม. เท่ากันได้อย่างมากทีเดียว

4. ระยะทาง ระหว่างเซนเซอร์ถึงตัวแบบ และระยะห่างจากฉากตัวแบบถึงฉากหลัง ยิ่งระยะทางมาก ก็จะยิ่งละลายได้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าต้องการละลายฉากหลัง อย่าพยายามให้นางแบบนั่งชิดกำแพง ไม่เช่นนั้นจะละลายยาก เป็นต้น

ในการถ่ายภาพละลายฉากหลังนั้น ถ้ามีความเข้าใจเรื่องทิศทางแสง จะสามารถทำให้เกิด Bokeh (โบเก้) เป็นวง ๆ สวยงามด้านหลังได้อย่างง่ายดาย ในบล็อกต่อ ๆ ไป ผมจะมีการอธิบายวิธีการทำโบเก้โดยละเอียดเลยนะครับ อย่าลืมติดตามครับ

ในเพจของผม มีแนะนำการถ่ายภาพบุคคล การทำโบเก้ การถ่ายชัดตื้นชัดลึก การใช้แฟลชแยก การใช้รีเฟล็กซ์ การใช้เจลสี การถ่ายในสตูดิโอ การย้อนแสง . . . และเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าใครติดตามอ่านมาเรื่อย ๆ ป่านนี้คงจะปรับกล้องเก่งกันทุกคนแล้วนะครับ . . . .

ส่วนใครยังปรับกล้องไม่เก่ง หรือคุมกล้องยังไม่อยู่ ให้ลองอ่านทบทวนในบทความเก่า ๆ ของผมนะครับ มีเขียนไว้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ การปรับค่ากล้อง การตั้งค่ากล้อง โดยดูได้ที่ www.suaythep.com (บล็อก) หรือ web.suaythep.com (เว็บ) หรือ vdo.suaythep.com

หวังว่าเพื่อน ๆ พี่น้องคงจะสามารถนำความรู้เหล่านี้ ไปใช้ในการ #ละลายฉากหลัง หรือ #เบลอฉากหลัง สิ่งที่ต้องการได้อย่างชำนาญนะครับ . . . สมัยนี้นะครับ ถ้าไม่ได้เป็นการถ่ายรูปวิว หรือภาพอะไรที่ต้องการชัดทุกอณู ผมมักจะชอบละลายฉากหลังทุกภาพเลยก็ว่าได้ แต่จะละลายมาก ละลายน้อย ก็แล้วแต่สถานการณ์ครับ ไม่งั้นถ่ายออกมาด้วยกล้องใหญ่ จะคล้าย ๆ กับถ่ายจากมือถือครับ เพราะจะชัดหมดทุกอณู

ไว้พบกันใหม่ครับ . . . . ขอให้สนุกสนานกับการถ่ายภาพสวย ๆ ครับ